๑. ที่ตั้งหน่วย
ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑ ต.บ้านคลอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
๒. ประวัติความเป็นมาของหน่วย
นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๗ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระบรม ราโชบายในการจัดทหารแบบใหม่ โดยให้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบก ประจำมณฑลในมณฑลต่างๆ โดยให้ทำไปตามสมควรแก่ความต้องการและความพร้อมด้านอื่นๆ ของประเทศ เพื่อบรรเทาความทุกยากเดือดร้อนของไพร่พลที่ต้องไปประจำรับราชการไกลถิ่น และความจำเป็นต้องมีหน่วยส่วนภูมิภาคเป็นสาขาของกระทรวงใหญ่ในนครหลวง
พ.ศ.๒๔๓๘ กระทรวงกลาโหม ประกาศตั้งกรมบัญชาการทหารบกประจำมณฑลพิษณุโลก ไม่ปรากฏว่ามีการจัดหน่วยทหารอย่างไร สันนิษฐานว่ามีการจัดตั้งหน่วยกรมบัญชาการทหารบกประจำมณฑลพิษณุโลกและกำลังพลของหน่วยประจำอยู่ ณ ที่ตั้งบริเวณค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองแพร่อยู่ในฐานะเป็นประเทศราช มีเจ้าพิริยะเทพวงษ์ เป็นเจ้า ผู้ครองนคร เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ กลุ่มโจรเงี้ยวประมาณ ๔๐ คน จากบ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นำโดย สะล่า โปชาย และจองแช่ เป็นหัวหน้า สมทบกับเงี้ยวบ้านป่าผึ้ง แขวงสูงเม่นมีพกาหม่องเป็นหัวหน้า พร้อมอาวุธปืนยกกำลังเข้ายึดโรงพักตำรวจภูธรเมืองแพร่ โรงไปรษณีย์โทรเลข บ้านข้าหลวง, ที่ว่าการเมืองแพร่, ศาล และคุก เมื่อทำการสำเร็จ มีพวกเงี้ยวกับนักโทษที่ได้รับการปลดปล่อยออกมาเข้าสมทบอีกประมาณ ๔๐๐ คน ได้ก่อการวุ่นวายรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยแยกกันเป็นหมู่เข้าปล้นบ้านคนไทย (คนไทยพูดภาษากลาง) จับพระยาไชยบูรณ์ข้าหลวงกำกับการเมืองแพร่ และจับราษฎรตลอดจนเด็กที่เป็นคนไทยภาคกลางมาฆ่าอย่างทารุณ จากนั้นได้ยกกำลังเข้าปล้นเมืองลำปาง และส่วนหนึ่งยกมาสกัดกั้นกองทัพไทยที่บริเวณเขาพลึง ชายแดนเมืองแพร่ต่ออุตรดิตถ์
๖ สิงหาคม ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทหารจากกรุงเทพฯ และราชบุรี จำนวน ๘ กองพัน ยกไปปราบเงี้ยวที่เมืองแพร่และลำปาง และทรงโปรดเกล้าให้ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย, ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย, ผู้ว่าราชการเมืองตาก และผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก คุมไพร่พลยกไปเป็นส่วนล่วงหน้า
๓๑ ก.ค.๒๔๔๕ กองกำลังหัวเมืองพิชัย ได้ปะทะกับกองกำลังเงี้ยวที่ปางค่า ทางขึ้นเขาพลึง เขตแดนเมืองอุตรดิตถ์ต่อกับเมืองแพร่ ประมาณครึ่งชั่วโมง พวกเงี้ยวถอยไปที่เขาพลึง และวันที่ ๓ ส.ค.๒๔๔๕ กองกำลังเมืองพิชัย ได้ปะทะกับกองกำลังเงี้ยวครั้งที่ ๒ ที่บริเวณเขาพลึงประมาณ ๒ ชั่วโมง กองโจรเงี้ยวจึงหนีแตกไป ทิ้งอาวุธ สัมภาระ และศพกองโจรอีก ๒๓ ศพ กองโจรเงี้ยวแตกหนีไปทางเมืองสอง สะเอียน เชียงคำ เชียงของ พ้นเขตเมืองแพร่ออกไปทางทิศเหนือ ซึ่งด่านสกัดจับของเมืองน่าน จับพวกเงี้ยวได้เป็นชาย ๑๙๕ คน หญิง ๕๘ คน ช้าง ๑๘ เชือก ม้า ๒๓ ตัว วัว ๑๘ ตัวอาวุธปืน ๑๕ กระบอก
๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๕ กองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เดินทางไปถึงเมืองแพร่ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ต่อมาได้จัดการสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิด หรือสมคบกระทำผิดเพื่อส่งฟ้องศาล และส่งให้กองกำลังเมืองต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นกลับภูมิลำเนาเดิม
๒๕ กันยายน ๒๔๔๕ เจ้าพิริยะเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครหลบหนีออกจากเมืองแพร่ไปอยู่ หลวงพระบาง ต่อมาได้ย้ายไปเมืองยู้ ในเขตปกครองของฝรั่งเศส เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงได้ประกาศถอดออกจากหน้าที่ราชการ และถอดถอนออกจากเจ้าครองนครแพร่ เป็นน้อยเทพวงษ์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๔๕ เป็นต้นไป และแต่งตั้งให้พระยาสุริยราชวรานุวัตร เป็นผู้รั้งราชการเมืองแพร่แทน
๑๓ เมษายน ๒๔๔๖ กรมหมื่น นครไชยศรีสุรเดช ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานและของบประมาณจัดตั้ง “กรมบัญชาการทหารบกมณฑลพิษณุโลก” เพื่อให้มีกำลังไว้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆในภาคเหนือ และเพื่อนำกำลังส่วนหนึ่งไปผลัดเปลี่ยนทหารเกณฑ์ที่ประจำอยู่ที่เมืองเชียงคำ มีการจัดหน่วยประกอบด้วย กองบังคับการ, กองทหารประจำเมืองพิษณุโลก ๒ กองร้อย, กองทหารประจำเมืองพิจิตร ๒ กองร้อย และกองทหารประจำเมืองอุตรดิตถ์ ๑ กองร้อย
๒๙ สิงหาคม ๒๔๔๘ กรมบัญชาการทหารบกพิษณุโลก ได้ประกาศใช้ข้อบังคับบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รศ.๑๒๔ และเปลี่ยนนามหน่วยเป็น “กรมทหารบกมณฑลพิษณุโลก” มีการจัดหน่วยประกอบด้วย กองบังคับการ, กองพันพิเศษ, กรมทหารราบที่ ๑๑ (พิษณุโลก) ๒ กองร้อย, กรมทหารราบที่ ๑๗ (พิจิตร) ๒ กองร้อย, กรมทหารราบที่ ๑๘ (อุตรดิตถ์) ๒ กองร้อย
พ.ศ.๒๔๔๙ แปรสภาพหน่วยเป็น “กองพลที่ ๗” เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมมีการจัดหน่วยประกอบด้วย กรมทหารราบที่ ๗ (พิษณุโลก), กรมทหารราบที่ ๑๗ (พิจิตร), กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๗ (พิษณุโลก) และกรมทหารพรานที่ ๗ (น่าน)
พ.ศ.๒๔๕๔ แปรสภาพหน่วยเป็น “กองทัพที่ ๒” ตั้งกรมบัญชาการที่เมืองพิษณุโลก ประกอบด้วย กองพลที่ ๖ มณฑลนครสวรรค์, กองพลที่ ๗ มณฑลพิษณุโลก และกองพลที่ ๘ มณฑลพายัพ ตามคำสั่งทหารบกที่ ๓๗/๓๔๑๗ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ.๑๒๙ (๑๓ ม.ค.๕๔) เรื่องจัดกองพลเป็นกองทัพและย้ายนายทหารรับราชการ
พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนการเรียกนามหน่วยจาก “กองพล” เป็น “กองพลทหารบก” คำสั่งทหารบกที่ ๒๗๒/๒๕๘๐๐ ลง ๑๑ มี.ค.๒๔๕๗ และให้ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกพิษณุโลกด้วย คำสั่งทหารบกที่ ๒๗๓/๒๕๘๐๑ ลง ๑๑ มี.ค.๒๔๕๗
พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนนามหน่วยเป็น “กองทัพน้อยทหารบกที่ ๗”
พ.ศ.๒๔๖๔ แปรสภาพหน่วยเป็น “กองทัพที่ ๓” (พิษณุโลก) ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม มีการจัดหน่วยประกอบด้วย กองพลที่ ๖ (นครสวรรค์) กองพลที่ ๗ (พิษณุโลก) และกองพลที่ ๘ (เชียงใหม่)
พ.ศ.๒๔๗๒ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของโลกเป็นไปอย่างรุนแรง จึงมีการจัดส่วนราชการใหม่ และยุบหน่วยเป็นจำนวนมาก กองทัพบกได้เปลี่ยนนามหน่วยจาก “กองทัพที่ ๓” เป็น “กองทัพที่ ๒” ย้ายที่ตั้งหน่วยไปเข้าที่ตั้งใหม่ที่เมืองอยุธยา และยุบหน่วยทหารในภาคเหนือ คงเหลือ“กองพลที่ ๖” (นครสวรรค์) มีหน่วยขึ้นตรงได้แก่ กรมทหารราบที่ ๗ (นครสวรรค์), กรมทหารราบที่ ๘ (ลำปาง) กรมทหารราบที่ ๑๗, และกรมทหารราบที่ ๑๘, กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๔ (นครสวรรค์) ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก คงเหลือหน่วย ร.๗ พัน.๓ เป็นกำลังรบ
พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาใหม่ ให้หน่วยกำลังรบขึ้นกับ จทบ. ในพื้นที่ ร.พัน.๑๒ (แปรสภาพหน่วยจาก ร.๗ พัน.๓) ขึ้นกับ จทบ.พ.ล.
พ.ศ.๒๔๗๘ ได้ตั้ง มทบ.๔ ขึ้นที่ จ.นครสวรรค์ (เป็นหน่วยขึ้นตรงกับ ทบ.) มี นขต.คือ จทบ.ช.ม.,จทบ.ล.ป., จทบ.อ.ต. และ จทบ.พ.ล.
พ.ศ.๒๔๘๒ การจัดหน่วยทหารบกในภาคเหนือยังคงเป็นไปตามเดิม จทบ.ต่างๆ ขึ้นกับ มทบ.๔ ที่ จ.นครสวรรค์ มีหน่วยกำลังรบขึ้นกับ จทบ.ต่างๆ ได้แก่ จทบ.ช.ม. มี ร.พัน.๓๑, จทบ.ล.ป. มี ร.พัน.๓๐, จทบ.พ.ล. มี ร.พัน.๒๙ (แปรสภาพหน่วยจาก ร.พัน.๑๒), จทบ.น.ว. มี ร.พัน.๒๘ และ ป.พัน.๑๐
พ.ศ.๒๔๘๓ เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน มทบ.๔ ได้รับมอบภารให้จัดหน่วยออกปฏิบัติราชการสนามด้านชายแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสด้านตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง มทบ.๔ ได้จัดหน่วยกองพลพายัพไปปฏิบัติราชการสนาม ได้แก่ ร.พัน.๓๐, ร.พัน.๓๑, ร.พัน.๒๘ (-), ร.พัน.๒๙ (-) และ ป.พัน.๑๐ ปรากฏว่าการปฏิบัติได้ผลดีอย่างยิ่งสามารถยึดพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงด้านเมืองหลวงพระบางไว้ได้ทั้งหมด ส่วน ร.พัน.๒๙ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองพลสุรินทร์ สามารถยึดภูมิประเทศในแคว้นกัมพูชาได้สำเร็จ และเดินทางกลับที่ตั้งปกติ เมื่อ ๑๔ เม.ย.๘๔ สำหรับ ร.พัน.๒๘ ได้ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองพลอุบลปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จเช่นเดียวกัน
วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๔ มทบ.๔ ได้รับคำสั่งให้จัดกำลังจากหน่วยต่างๆ ในรูปของกองพล “กองพลที่ ๔” โดยมี พ.อ.หลวงหาญสงคราม (ฟ้อน สุวรรณไศละ) ผบ.มทบ.๔ เป็น ผบ.พล.๔ เป็นกองพลในกองทัพพายัพ ซึ่งมี พล.ท.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพพายัพ การจัดกองพลที่ ๔ ประกอบด้วย ร.๓ (ร.๓ พัน.๖, ร.๓ พัน.๘ และ ร.๓ พัน.๔) มี พ.อ.หลวงเกรียงเดชพิชัย (สุทธิ์ ศุขะนิล) เป็น ผบ.กรม, ร.๑๓ (ร.๑๓ พัน.๓๐, ร.๑๓ พัน.๓๑ และ ร.๑๓ พัน.๓๔) มี พ.ท.ขุนวัฒนโยธิน (สอด รัตนยันตรการ) เป็น ผบ.กรม การปฏิบัติของกองทัพพายัพในพื้นที่สหรัฐไทยเดิม ได้รับความชื่นชมต่อผลสำเร็จจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมกับประกาศกำหนดให้วันที่ ๗- ๑๔ มกราคม ๒๔๘๖ เป็น “สัปดาห์แห่งความโชคชัย”
พ.ศ.๒๔๘๕ – ๒๔๘๗ กองพลที่ ๔ ปฏิบัติการรบในสหรัฐไทยเดิมตลอดเวลา ๓ ปี ได้เปลี่ยน ผบ.พล.๔ เป็น พล.ต.หลวงเกรียงเดชพิชัย และ พล.ต.สุทธิสารรณกร ตามลำดับ
พ.ศ.๒๔๘๘ เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง พล.ต.หลวงสุทธิสารรณกร ได้นำกองพลกลับที่ตั้ง จ.นครสวรรค์, ร.พัน.๒๙ เข้าที่ตั้งเดิม จ.พิษณุโลก, ร.พัน.๓๐ เข้าที่ตั้งเดิม จ.ลำปาง, ร.พัน.๓๑ กลับที่ตั้งเดิม จ.เชียงใหม่, ร.พัน.๒๘, และ ป.พัน.๑๐ เข้าที่ตั้งเดิม จ.นครสวรรค์, ป.พัน.๑๑ เข้าที่ตั้งใหม่ จ.เชียงใหม่ และมีกองทหารสื่อสาร, ช.พัน.๔, กองพาหนะ, กองทหารสัตว์ต่างเข้าที่ตั้ง จ.นครสวรรค์ มีการรวมตำแหน่ง ผบ.พล.๔ และ ผบ.มทบ.๔ เข้าด้วยกัน หน่วยทหารทั้งหมดขึ้นอยู่กับ พล.๔ และ มทบ.๔
พ.ศ.๒๔๙๐-๒๔๙๑ มีการจัดตั้ง ร.๔ ตั้งอยู่ที่ จ.พิษณุโลก มี นขต.คือ ร.๔ พัน.๑ (ร.พัน.๒๘ เดิม จ.นครสวรรค์), ร.๔ พัน.๓ (ร.พัน.๒๙ เดิม จ.พิษณุโลก), ร.๑๗ ตั้งอยู่ที่ จ.ลำปาง ให้ย้าย ป.๔ พัน.๑ (จ.นครสวรรค์) และ ป.๔ พัน.๒ (จ.ลำปาง) เข้าที่ตั้ง จ.เชียงใหม่ และกองพลที่ ๔ ขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพที่ ๑ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ “ตามพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๔๙๑” ราชกิจจานุเบกษา ๖๕ (๑๔ ก.ย.๙๑)
พ.ศ.๒๔๙๓ ทบ.ได้จัดตั้ง กองทัพที่ ๓ (ท.๓) ขึ้นที่ จ.พิษณุโลกและตั้ง พล.๗ และ มทบ.๗ ขึ้นที่ จ.ลำปาง โดยให้ พล.๔ และ มทบ.๔, พล.๗ และ มทบ.๗ ขึ้นตรงต่อ ท.๓ ซึ่ง พล.๔ และ มทบ.๔ มี นขต.คือ ร.๔ พัน.๑ (จ.นครสวรรค์), ร.๔ พัน.๒ (จว.อ.ย.-น.ว.), ร.๔ พัน.๓ (จ.พิษณุโลก) , พล.๗ และ มทบ.๗ มี ร.๗ พัน.๑ (จ.เชียงใหม่), ร.๗ พัน.๒ (จ.ลำปาง), ร.๗ พัน.๓ (จว.อ.บ.-ล.ป.-ช.ร.) และ ป.พัน.๗ (จ.เชียงใหม่) ส่วนกองพาหนะ, กองสื่อสาร, กองพันทหารช่าง, และกองสัตว์รักษ์ขึ้นตรงต่อ ทภ.๓ และในส่วนภูมิภาคได้ตั้งภาคทหารบกที่ ๓ ขึ้นเพื่อควบคุม มทบ.และ จทบ.
พ.ศ.๒๔๙๔ มีการเปลี่ยนแปลงการจัดหน่วยในพื้นที่ ทภ.๓ กล่าวคือ ให้หน่วยที่ขึ้นตรงต่อ พล.๔ และ มทบ.๔ บางหน่วยขึ้นตรงต่อ ท.๓ เช่น ช.ท.๓ (ช.พัน.๔ เดิม), ส.ท.๓ (ส.พล.๔ เดิม), กอง พ.ท.๓ (กอง พ.พล.๔ เดิม) และจัดตั้งกอง สพบ.ท.๓ ขึ้นที่บางปราบ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์นอกจากนี้ได้จัดกำลังเป็น “กองผสม” ประกอบด้วย ร.๔ พัน.๑, ป.พัน.๔ และ ช.พัน.๔
พ.ศ.๒๔๙๘ กองทัพบกได้แก้ไขอัตรากองทัพบก ๙๑ เป็น อัตรากองทัพบก ๙๘ ได้มีการจัดหน่วยกำลังรบในรูปของ กรมผสม โดยให้ ร.๔ เป็นกรมผสมที่ ๔ ขึ้นกับ พล.๔ และ มทบ.๔, ร.๗ เป็นกรมผสมที่ ๗ ขึ้นกับ พล.๗ และ มทบ.๗ กำลังที่เหลือจากการจัดการผสมให้ขึ้นตรงกับ ท.๓ ทั้งสิ้น
พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ย้ายที่ตั้ง พล.๔ จาก จ.นครสวรรค์ เข้าที่ตั้งใหม่ที่ จ.พิษณุโลก มีหน่วยขึ้นตรง คือ ผส.๔ (จ.นครสวรรค์), ผส.๗ (จ.ลำปาง), ร้อย บก.พล.๔, ม.พัน.๗, ม.พัน.๙ (ยานเกราะ), ช.พัน.๔, สพบ.พล.๔, พัน.ขส.พล.๔ ในส่วนภูมิภาคมี ภทบ.๓ แยกจากส่วนกำลังรบ มีหน่วยขึ้นตรงคือ มทบ.๔ (จ.นครสวรรค์) และ มทบ.๗ (จ.ลำปาง)
พ.ศ.๒๕๐๐ ได้จัดกองทัพเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ตามราชกิจจานุเบกษา ๗๔ (๒๘ พ.ค.๒๕๐๐)
พ.ศ.๒๕๐๑ ได้แปรสภาพภาคทหารบกที่ ๓ เป็นกองทัพภาคที่ ๓ (ทภ.๓) มีกำลังรบหลัก คือ พล.๔ และกำลังส่วนภูมิภาคคือ มทบ.๔ และ มทบ.๗ เป็นหน่วยขึ้นตรงของ ทภ.๓
พ.ศ.๒๕๑๒ ทบ.ได้จัดตั้ง บชร.๓ เป็นหน่วยส่งกำลังบำรุงให้กับ ทภ.๓ ตามคำสั่ง ทบ.ที่ ๒๒๒/๒๕๑๒ ลง ๒๔ มิ.ย.๑๒
พ.ศ.๒๕๒๕ พล.๔ ได้เปลี่ยนนามหน่วยเป็น กองพลทหารราบที่ ๔ (พล.ร.๔) เมื่อ ๑๖ ก.ย.๒๕ และ ทบ. ได้อนุมัติให้ พล.ม.๑ ขึ้นการบังคับบัญชาต่อ ทภ.๓ ตามคำสั่ง ทบ. (เฉพาะ) ที่ ๓๐๖/๒๕ ลง ๒๙ ต.ค.๒๕ ทภ.๓ จึงมีหน่วยขึ้นตรงคือ พล.ร.๔, พล.ม.๑, มทบ.๔, มทบ.๗ และ บชร.๓
พ.ศ.๒๕๓๒ ได้จัดตั้ง พล.พัฒนา ๓ เป็นหน่วยขึ้นตรง ทภ.๓ ตั้งแต่ ๑ ต.ค.๓๒ ตามคำสั่งทบ.(เฉพาะ) ที่ ๑๑๖/๓๒ ลง ๒๘ ก.ค.๓๒
พ.ศ.๒๕๓๒ ทบ.ได้อนุมัติจัดตั้ง ทน.๓ เป็นหน่วยควบคุมอำนวยการต่อหน่วยปฏิบัติงานในสนาม และเตรียมการในเรืองทั้งปวง เพื่อป้องกันประเทศจากภัยคุกคามก่อให้เกิดความพร้อมรบและเพิ่มขีดความสามารถให้กับ ทภ.ตามคำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ที่ ๑๕๖/๓๒ ลง ๑๑ ก.ย.๓๒
พ.ศ.๒๕๓๓ ทบ.ได้ปรับการจัดหน่วยส่วนภูมิภาค (มทบ./จทบ.) ขึ้นใหม่ในพื้นที่ ทภ.๓ จึงมีหน่วยภูมิภาคคือ มทบ.๓๑ (มทบ.๔ เดิม), มทบ.๓๒ (มทบ.๗ เดิม) และ มทบ.๓๓ (จทบ.ช.ม.เดิม) ดังนั้น ทภ.๓ จึงมี นขต.กล่าวคือ ทน.๓, พล.ร.๔, พล.ม.๑, พล.พัฒนา ๓, บชร.๓, มทบ.๓๑, มทบ.๓๒และ มทบ.๓๓
พ.ศ.๒๕๕๔ ทบ. ได้จัดตั้ง พล.ร.๗ เป็น นขต.ทภ.๓ ตามโครงการเสริมสร้างกองทัพบก ตามคำสั่ง ทบ. (เฉพาะ) ที่ ๙/๕๔ เรื่อง จั้งตั้ง พล.ร.๗ ลง ๑๗ มี.ค.๕๔ ตั้งแต่ ๑ เม.ย.๕๔ เปิดทำการ เมื่อ ๒๙ เม.ย.๕๔ หน่วย นขต. ได้แก่ ร.๗, ร.๑๗, ป.พัน.๗ และ ป.พัน.๑๗ ที่ตั้ง เลขที่ ๒๐๒ หมู่ ๑ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
๓. ภารกิจของหน่วย ทภ.๓ มีภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจาก ทบ. มีภารกิจหลัก ๔ ประการ คือ
๓.๑ การป้องกันประเทศ
๓.๒ การรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายใน
๓.๓ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
๓.๔ การช่วยพัฒนาประเทศ
๔. การปฏิบัติงานที่สำคัญของหน่วย จากภารกิจหลัก ๔ ประการดังกล่าว ทภ.๓ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในงานที่สำคัญ ดังนี้
๔.๑ การป้องกันประเทศ ได้จัดการใช้กำลังตามอัตราที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์ โดยจัดกำลังเป็น ๒ กองกำลังหลัก มีภารกิจเฝ้าตรวจและจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน และป้องกันการรุกล้ำอธิปไตยของประเทศ ดังนี้
กองกำลังนเรศวร จัดกำลังจาก พล.ร.๔ รับผิดชอบชายแดนด้านตะวันตก ในพื้นที่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน
กองกำลังผาเมือง จัดกำลังจาก พล.ม.๑ รับผิดชอบชายแดนด้านเหนือ และด้านตะวันออก ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, จ.เชียงราย, จ.น่าน, จ.พะเยา, และ จ.อุตรดิตถ์
๔.๒ การรักษาความมั่นคงภายใน ได้จัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๓ ประกอบด้วย กอ.รมน.ภาค ๓ สย.๑, กอ.รมน.ภาค ๓ สย.๒, และ กอ.รมน.จว.ประจำจังหวัดต่างๆ ทั้ง ๑๗ จังหวัดในภาคเหนือ มีภารกิจวางแผน อำนวยการประสานงาน กำกับดูแล การแก้ไขปัญหาความมั่นคง และการนำนโยบายยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในมาปฏิบัติให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม
๔.๓ การต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ได้จัดตั้ง ศปพส.ทภ.๓ เพื่อปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ภายในที่ต่อเนื่อง ในพื้นที่ภาคเหนือ, แก้ไขปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่น และพืชเสพติด อื่นๆ ดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ทหารที่รับผิดชอบ, การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และดำเนินการตามแนวความคิดการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงในพื้นที่รับผิดชอบ และสนับสนุนหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนตามที่ได้รับการร้องขอในขีดความสามารถ
๔.๔ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมถวายความปลอดภัย (กอร.ถปภ.) หรือ กองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย (กอร.รปภ.) สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัช-ทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะในวโรกาส/โอกาส เสด็จพระราชดำเนิน/เข้ามาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่รับปิดชอบของ ทภ.๓ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บังเกิดความปลอดภัยสูงสุด สมพระเกียรติ/สมเกียรติ จนจบภารกิจ
๕. เกียรติประวัติของหน่วย
ทภ.๓ ได้ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานกว่า ๑๑๐ ปี (ณ วันที่ ๒๐ ส.ค.๕๕) ตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งหน่วยทหารขึ้นในพื้นที่มณฑลพิษณุโลก ในสมัย ร.๕ (พ.ศ.๒๔๔๖) มีเกียรติประวัติที่สำคัญ ดังนี้
การปราบเงี้ยว ในสมัย ร.๕ เมืองแพร่มีฐานะเป็นประเทศราช มีเจ้าพิริยะเทพวงษ์เป็นเจ้าผู้ครองนคร ใน พ.ศ.๒๔๔๕ กลุ่มโจรเงี้ยวประมาณ ๓๐๐ คนเศษ มีพกาหม่อง สะล่า โปชาย และจองแช่ เป็นหัวหน้าเข้าทำการปล้นสถานที่ราชการต่างๆ ในเมืองแพร่ พร้อมทั้งปล่อยนักโทษจากเรือนจำ ออกมาสมทบ ได้ทำการจับพระยาไชยบูรณ์ ข้าหลวงกำกับราชการเมืองแพร่ และจับราษฎรที่เป็นคนไทย (พูดภาษาไทยกลาง) มาฆ่าอย่างทุรณ เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากเจ้าพิริยะเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ทำให้การปราบปรามพวกเงี้ยวลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้น ร.๕ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย นำกำลังจากเมืองพิชัยไปตรึงกำลังพวกเงี้ยว และให้นายพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้บัญชาการ มีอำนาจสิทธิขาดทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ในการกวาดล้างโจรเงี้ยว คุมกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปสมทบกับกำลังจากมณฑลพิษณุโลก และมณฑลพายัพ สามารถปราบปรามได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อ ๒๐ ส.ค.๒๔๔๕ เจ้าพิริยะเทพวงษ์ จึงถูกถอดเป็นน้อยเทพวงศ์ในเวลาต่อมา
เมื่อ ๒๒ ก.ค.๒๔๖๐ ไทยได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการีและได้ส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตร ภายใต้การนำของ พ.อ.พระเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) กองอาสาได้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ กองการบินทหารบก และกองทหารบกรถยนต์โดยออกเดินทางเมื่อ ๑๙ มิ.ย.๒๔๖๑ ได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับทหารพันธมิตรเข้ายึดดินแดนเยอรมันทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ ได้เป็นผลสำเร็จได้รับการยกย่องสรรเสริญจากรัฐบาลฝรั่งเศส เป็นอย่างมาก และได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ครัวเดอแกร์ (Croix de Guerre) เป็นเกียรติประวัติแก่ทหารไทย เมื่อสงครามสิ้นสุดลงเมื่อ ๑๔ ก.ค.๒๔๖๒ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้มีพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะที่ประตูชัยกรุงปารีส ฝรั่งเศส ทหารไทยได้นำธงชัยเฉลิมพลเข้าร่วมพิธีสวนสนามอย่างสมเกียรติ วีรบุรุษจาก ทภ.๓ ที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีจำนวน ๕ นาย คือ ๑. จ.ส.อ.เจริญ พิรอด อ.เด่นชัย จ.แพร่ ๒. ส.อ. ปุ้ย ขวัญยืน ป.๖ (ป.พัน.๔) จ.นครสวรรค์ ๓. พล.ฯ พรม แตงเต่งวรรณ จ.พิษณุโลก ๔. พล.ฯ เชื่อม เปรมปรุงใจ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ๕. พล.ฯ โป๊ะ ซุกซ่อนภัย จ.สุโขทัย เมื่อ ๖ ม.ค. พ.ศ.๒๕๔๓ รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Ligion of Honerให้กับ พลฯ ยอด สังข์รุ่งเรือง อายุ ๑๐๑ ปี ภูมิลำเนา อ.เมือง จ.พิษณุโลก อดีตวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นทหารไทยที่ยังมีชีวิตอยู่เหลือเพียง ๑ คน และได้รับพระราชทานยศเป็น ร.ต.
๒๔ ธ.ค.๒๔๘๓ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐบาลได้สั่งการให้ มทบ.๔ จัดตั้งกองพลพายัพเข้าปฏิบัติการรบในพื้นที่ชายแดนไทย-อินโดจีน โดยมี พ.ท.หลวงหาญสงคราม เป็น ผบ.พล. ประกอบด้วยกำลัง ร.พัน.๒๗ (จ.เชียงราย), ร.พัน.๒๘ (จ.นครสวรรค์), ร.พัน.๒๙ (จ.พิษณุโลก), ร.พัน.๓๐ (จ.ลำปาง), ร.พัน.๓๑ (จ.เชียงใหม่) และ ส.พัน.๔ (จ.นครสวรรค์) กองพลพายัพได้รุกเข้ายึดพื้นที่อินโดจีนของฝรั่งเศส ได้พื้นที่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ตร.กม. ไว้ได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับคำชมเชยจาก ผบ.ทหารสูงสุด (พล.ต.แปลก พิบูลสงคราม) เมื่อ ๓๑ ม.ค.๘๔
กลางคืนวันที่ ๗ ธ.ค.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้ส่งกำลังกองทัพที่ ๑๕ ยกพลขึ้นบกทางภาคไต้ของประเทศไทย และเคลื่อนที่เข้ามาทางบก ด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (เดิม จ.ปราจีนบุรี) กำลังของทหารญี่ปุ่นได้ปะทะกับกำลังของทหารไทย และกองกำลังท้องถิ่น ตั้งแต่ประมาณ ๐๓๐๐ ของ วันที่ ๘ ธ.ค.๘๔ จนถึงเวลาประมาณ ๑๑๐๐ จึงมีสั่งการจากนายกรัฐมนตรีให้หยุดยิงเพื่อเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นต่อมาไทยได้ลงนามในกติกาพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อ ๒๑ ธ.ค.๘๔ และได้มีการลงนามร่วมกันในข้อตกลงในกิจที่เกี่ยวกับการยุทธร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นกับไทย เมื่อ ๑ ม.ค.๘๕ บก.ทหารสูงสุดได้จัดตั้ง กองทัพพายัพ ขึ้น และมอบหน้าที่ให้เข้าไปปฏิบัติการในดินแดนสหรัฐไทยเดิม (แคว้นฉาน) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทย กองทัพพายัพ ซึ่งประกอบด้วย ๓ กองพล กล่าวคือ กองพลที่ ๒ จาก จ.ปราจีนบุรี, กองพลที่ ๔ จาก จ.นครสวรรค์, กองพลทหารม้า และ กรม ม.อิสระ (ม.๑๒), กับหน่วยสมทบ ๑ พัน.ร., ๒ พัน.ป. และ ๔ พัน.ช. ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นบีบบังคับให้กองกำลังทหารไทยไปร่วมกับญี่ปุ่นรบกับอังกฤษด้านมลายู ๑๐ พ.ค.๑๘ กองทัพพายัพได้เคลื่อนกำลังเข้าไปในสหรัฐไทยใหญ่ (แคว้นฉาน) ได้เข้ายึดนครเชียงตุงได้ ใน ๒๖ พ.ค.๘๕ และยึดจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ได้สำเร็จเมื่อ ๑๑ มิ.ย.๘๕ (ใน ๓๐ ส.ค.๘๖ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสหรัฐไทยใหญ่เป็นสหรัฐไทยเดิม รวมเข้าเป็นอาณาเขตของไทยเป็นพื้นที่ประมาณ ๓๖,๓๘๖ ตารางกิโลเมตร) ๑ มี.ค.๘๖ กองพลที่ ๔ ได้ส่งมอบการรักษาตำบลสำคัญตามชายแดน พม่า-จีน ให้กับกองพลที่ ๓ แล้ว กองพลที่ ๔ จึงได้ถอนตัวมาพักในเขตหลัง ผลการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ ของกองทัพพายัพ ได้รับความชมเชยจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดในการปฏิบัติภารกิจได้ผลดียิ่ง
ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เริ่มเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทยประมาณ พ.ศ.๒๔๖๓ และขยายกว้างออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ จำนวนมากและได้ประกาศตั้งเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ จากนั้นได้ขยายงานมวลชนแสวงแนวร่วม พร้อมทั้งจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ใช้อาวุธเข้าต่อสู้เจ้าหน้าที่เป็นครั้งแรก เมื่อ ๗ ส.ค.๐๘ ที่ บ.นาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม จนกลายเป็นสงครามปฏิวัติขึ้นทั่วทุกภาคของไทย
ในพื้นที่ภาคเหนือ พคท.ได้มีการเคลื่อนไหวในเขตของ ทภ.๓ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒ โดยเริ่มแทรกซึมตามหมู่บ้านชาวเขา เผ่าม้ง และเผ่าเย้า บริเวณ อ.เทิง, อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ในปี ๒๕๐๔ พคท. ได้จัดตั้งฐานปฏิบัติการขึ้นที่แขวงอุดมไชย ในเขตลาวเรียกว่าสำนัก ๓๐ เป็นฐานในการปลุกระดมมวลชน และจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น และจัดตั้งโรงเรียนพลพรรคต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา เพื่อฝึกอบรมชาวเขาที่ถูกส่งไปจากภาคเหนือของไทย
๒๖ ก.พ.๑๐ กองกำลังติดอาวุธของ พคท.เริ่มทำการต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น ครั้งแรกที่ บ.น้ำปาน ต.นาไร่หลวง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน นับได้ว่าเป็นวัน “เสียงปืนแตก” ในภาคเหนือและได้ขยายการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ จนสามารถจัดตั้งฐานที่มั่นในภาคเหนือได้ ๙ แห่งด้วยกันกล่าวคือ
๑. ฐานที่มั่นดอยยาว - ดอยผาหม่น
๒. ฐานที่มั่นดอยผาจิ รอยต่อ จ.พะเยา- จ.น่าน
๓. ฐานที่มั่นภูพยัคฆ์ (น่านเหนือ) อ.ปัว จ.น่าน
๔. ฐานที่มั่นภูสามเหลี่ยม (น่านใต้) อ.แม่จริม จ.น่าน
๕. ฐานที่มั่นภูขัด รอยต่อ จ.พิษณุโลก- จ.เลย
๖. ฐานที่มั่นภูหินร่องกล้า รอยต่อ ๓ จว. (จ.พิษณุโลก- จ.เพชรบูรณ์- จ.เลย)
๗. ฐานที่มั่นเขาค้อ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
๘. ฐานที่มั่นขุนแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก
๙. ฐานที่มั่นแม่จันทะ อ.อุ้มผาง จ.ตาก
กองทัพภาคที่ ๓ ได้รับมอบภารกิจให้รับผิดชอบการปราบปราม ผกค.ในเขตภาคเหนือของไทย โดยจัดตั้งเป็นกองกำลังเฉพาะกิจ ดังนี้
๒๓ ก.ย.๑๐ จัดตั้ง บก.ทภ.๓ สน. ขึ้นที่ จทบ.ช.ร. เพื่ออำนวยการและส่งกำลังสกัดกั้นทหาร จีนคณะชาติ (ทจช.) ไม่ให้ข้ามแดนเข้ามาในเขตไทย ด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อผ่านไปประเทศพม่า
๙ ม.ค.๑๑ ได้ย้าย บก.ทภ.๓ สน. ไปตั้งที่ บ.สบกอน ต.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เพื่ออำนวยการควบคุมสถานการณ์และกวาดล้าง ผกค.อีกภารกิจหนึ่ง
๙ ก.ค.๑๒ กอ.ปค.ได้จัดตั้ง กอ.ปค.เขต ๓ โดยให้ ทภ.๓ สน.ทำหน้าที่เป็น กอ.ปค.เขต ๓ เพื่อต่อต้านและปราบปราม ผกค.ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
๔ พ.ย.๑๒ ได้ย้าย บก.ทภ.๓/กอ.ปค.เขต ๓ ไปตั้งที่ อ.เมือง จ.ลำปาง เนื่องจากที่ตั้งเดิม (อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน) ล้ำเข้าไปอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ (เขตหน้า) มากเกินไป
๒๖ ธ.ค.๑๓ ได้ย้าย บก.ทภ.๓ สน./กอ.ปค.เขต ๓ เข้าที่ตั้งแห่งใหม่ บริเวณท่าอากาศยานทหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลกเพื่อให้สามารถอำนวยการและควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๑ ต.ค.๑๕ บก.ทภ.๓ สน./กอ.ปค.เขต ๓ ได้อนุมัติให้บรรจุกำลัง และมีการขยายแผนกต่างๆ เพิ่มขึ้น และที่ตั้ง บก.ทภ.๓ สน./กอ.ปค.เขต ๓ ขณะนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ของ ทอ. ซึ่ง ทอ. มีความจำเป็นต้องขยายสนามบินให้กว้างขึ้น จึงได้ย้าย บก.ทภ.๓ สน./กอ.ปค.เขต ๓ ไปเข้าที่ตั้งใหม่ บริเวณดงภูเกิด อ.เมือง จ.พิษณุโลก
๒๘ มิ.ย.๑๗ เปลี่ยนนามหน่วย กอ.ปค.เขต ๓ เป็น กอ.รมน.เขต ๓
๓๐ มี.ค.๒๒ เปลี่ยนนามหน่วย กอ.รมน.เขต ๓ เป็น กอ.รมน.ภาค ๓
๑ ก.พ.๒๙ เปลี่ยนนามหน่วย ทภ.๓ สน./กอ.รมน.ภาค ๓ เป็น ทภ.๓/กอ.รมน.ภาค ๓
นับตั้งแต่วันเสียงปืนแตก “๒๖ ก.พ.๑๐” เป็นต้นมา ฝ่ายเราได้เผชิญกับปัญหาการลอบโจมตี, ซุ่มยิง, ซุ่มโจมตี ลอบสังหารเจ้าหน้าที่หรือราษฎร นับเป็นจำนวนร้อยครั้ง ระยะแรกฝ่ายเราใช้กำลังทหารและตำรวจขนาดเล็กเข้าทำการปราบปราม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา ทุรกันดาร ยากต่อการเข้าถึง ประกอบกับ ผกค. มีความชำนาญมาขึ้น และได้รับการสนับสนุนจาก พคจ.ผ่านลาวและเวียดนาม
ตั้งแต่ เม.ย.๑๔ เป็นต้นมารัฐบาลได้พิจารณาใช้กำลังที่มีการฝึกและจัดแบบทหารรวมทั้งกำลังทหาร เข้าทำการปราบปราม เพื่อทำลายกองกำลังติดอาวุธ และ ผกค. จนถึงปลายปี ๒๕๒๓ ทภ.๓/กอ.รมน.ภาค ๓ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งนโยบายที่ ๖๖/๒๓ ตามแผนการใช้กำลังสนับสนุน, ผลักดันการเมือง เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เป็นการปฏิบัติในรูปแบบกองทัพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชน จนถึงปี ๒๕๒๖ มีผลกรปฏิบัติสามารถทำลายฐานที่มั่นต่างๆ ของ ผกค.ได้ทั้งหมด ทำให้มีกำลังติดอาวุธและมวลชนของ ผกค. เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก นับได้ว่าเป็นความสำเร็จของ ทภ.๓/กอ.รมน.ภาค ๓ ที่สามารถยุติสถานการณ์การสู้รบได้อย่างเด็ดขาดในเขตภาคเหนือ รัฐบาลสามารถดำเนินการโครงการพัฒนา ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือโครงการพัฒนาของส่วนราชการต่างๆ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้มีความอยู่ดีมีสุข เป็นการขจัดเงื่อนไขต่างๆ ให้หมดสิ้นไป
การปฏิบัติตั้งแต่ เม.ย.๑๔ จนถึงปี ๒๖ ที่สำคัญ ทภ.๓/กอ.รมน.ภาค ๓ ได้ปฏิบัติภารกิจดังนี้
๑. ยุทธการผาเลือด (กฝร.๑๔) อ.เชียงของ อ.เทิง จ.เชียงราย,อ.เชียงคำ จ.พะเยา (๑-๓๐ เม.ย.๑๔) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒๒ นาย
๒. ยุทธการภูขวาง (กฝร.๑๕) รอยต่อ ๓ จว. จ.พิษณุโลก-จ.เพชรบูรณ์-จ.เลย (๒๑ ธ.ค.๑๔-๑๔ พ.ค.๑๕) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๑๑ นาย
๓. ยุทธการสามชัย (กฝร.๑๖) รอยต่อ ๓ จว. จ.พิษณุโลก-จ.เพชรบูรณ์-จ.เลย (๓๐ พ.ย.๑๕-๑๑ ธ.ค.๑๕) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒๙ นาย
๔. ยุทธการผาภูมิ (กฝร.๑๗) จ.เชียงราย, จ.พะเยา, จ.น่าน(๒๓ พ.ย.๑๖-๒๑ ม.ค.๑๗) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๑๙ นาย
๕. ยุทธการเกรียงไกร ๑๗ อ.เชียงคำ จ.เชียงราย (๔ ธ.ค.๑๗) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒ นาย
๖. ยุทธการเสนีย์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย (๑๑-๑๖ ก.พ.๑๘) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๙ นาย
๗. ยุทธการ ๔/๒ (แผนสิงห์โต) อ.พบพระ จ.ตาก(๒-๑๒ ส.ค.๒๓) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๓ นาย
๘. ยุทธการอิทธิชัย ๒๓ อ.เชียงของ อ.เทิง จ.เชียงราย (๑๑-๑๒ ส.ค.๒๓) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๑ นาย
๙. ยุทธการผาเมืองเผด็จศึกเขาค้อ-เขาย่าอ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ (๒๐ ม.ค.๒๔-พ.ค.๒๔) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๑๒๕ นาย
๑๐. ยุทธการประสบโชค รอยต่อ จ.พะเยา-จ.น่าน (๑๔-๒๔ เม.ย.๒๔) ไม่มีการสูญเสีย
๑๑. ยุทธการสุริยพงษ์ ๑ จ.พะเยา (๑๙ มี.ค.๒๕-๔ เม.ย.๒๕) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๖ นาย
๑๒. ยุทธการผาเมืองเกรียงไกร รอยต่อ ๓ จว.(พ.ช.-พ.ล.-ล.ย.) (๕ มิ.ย.๒๕-๑๕ ก.ค.๒๕)
๑๓. ยุทธการน่านเกรียงไกร อ.ปัว อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน (๑๒-๒๔ ก.ค.๒๔) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๑ นาย
๑๔. ยุทธการธารีฉัตร อ.เชียงกลาง จ.น่าน (๒๕ เม.ย.-๒พ.ค.๒๕) ไม่มีการสูญเสีย
๑๕. ยุทธการเพชรมงคล อ.อุ้มผาง จ.ตาก (๑๒ มิ.ย.๒๕) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๔ นาย
๑๖. ยุทธการสุริยพงษ์๒ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน (๒๑ ธ.ค.๒๕-๔ ม.ค.๒๖)ฝ่ายเราเสียชีวิต ๖ นาย
๑๗. ยุทธการสุริยพงษ์ ๓ อ.ปัว จ.น่าน (๖-๑๕ ม.ค.๒๖) ไม่มีการสูญเสีย
๑๘. ยุทธการสิรยพงษ์ ๔ อ.ปัว จ.น่าน (๑-๑๓ มี.ค.๒๖) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๒๗ นาย
๑๙. ยุทธการสุริยพงษ์ ๕ จ.น่าน (ปี ๒๕๒๖) ฝ่ายเราเสียชีวิต ๖ นาย
บ.ร่มเกล้า อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่ชายแดนไทย - สปปล. บริเวณรอยต่อ จ.พิษณุโลก - จ.เลย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนและสูงชัน ราษฎรที่อาศัยประกอบด้วย
ชาวม้งกว่า ๑๐๐ ครอบครัว ในปี พ.ศ.๒๕๑๑-๒๕๒๕ มีการเคลื่อนไหวของ ผกค. สูงมาก ฝ่ายไทยได้จัดกำลังจาก พล.ม.๑ เข้าปฏิบัติการในพื้นที่แห่งนี้ และมีการปฏิบัติการทางทหารตามแผนยุทธการต่างๆ หลายครั้งและ พล.ม.๑ ได้มอบความรับผิดชอบให้กับ ทพ.๓๔ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นต้นมา
เมื่อ ๓๑ พ.ค.๓๐ มีกำลังไม่ทราบฝ่ายประมาณ ๓๐ คน ได้เผารถแทรคเตอร์ ของบริษัทรุ่งกระจ่างทำไม้จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทาน จาก ออป. ได้มีการปะทะกับฝ่ายเรา ทำให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ จำนวน ๓ นาย
๑ มิ.ย.๓๐ ทหาร สปปล.ได้รุกล้ำอธิปไตยเข้ามาจับราษฎรไทย อ.นาแห้ว จ.เลย จำนวน ๗ คน ไปในเขตลาว หนีกลับมาได้ ๑ คน ถูกยิงเสียชีวิต ๑ คน อีก ๕ คนถูกจับขังไว้ และฝ่ายลาวได้มาต่อรองกับนายอำเภอนาแห้วฯ ให้ยอมรับว่า บ.ร่มเกล้า เป็นเขตของลาวแต่ไม่สามารถตกลงกันได้
๘ ส.ค.๓๐ เวลาประมาณ ๐๒๓๐ กองกำลังของ สปปล.ประมาณ ๒๐๐ คน ได้เข้าโจมตี ร้อย.ทพ.๓๔๐๕ บ.ร่มเกล้าฯ ฝ่ายเราได้ยิงต่อสู้จนฝ่าย สปปล. ถอนกลับไป เมื่อได้เข้าพิสูจน์ทราบพบว่าเป็นกำลังของ พัน.ทปล.ที่ ๔๐๒ เสียชีวิต ๑๑ คน บาดเจ็บ ๙ คน ฝ่ายไทยยึดศพได้ ๒ ศพ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทภ.๓ จึงมอบให้ พล.ม.๑ จัดตั้ง ทก.ยว.พล.ม.๑ เข้าปฏิบัติการเพื่อยึดเนิน ๑๑๘๔,เนิน ๗๘๒,เนิน ๙๐๕ และเนิน ๑๔๒๘ พื้นที่ บ.ร่มเกล้า ฝ่ายเราได้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ตั้งแต่ ส.ค.๓๐ ได้เข้าตีบริเวณเนินต่างๆ ซึ่งได้กำหนดเป็น ๙ ที่หมาย แต่ไม่สามารถกระทำได้สำเร็จ เนื่องจากฝ่ายตรงข้าม มีอาวุธยิงสนับสนุนอยู่เสมอ สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
๑๕-๑๖ ธ.ค.๓๐ กองพันผสมเตรียมพร้อมจัดจาก ม.พัน.๑๘ เข้าตีต่อ ทม.ต่างๆ เป็นผลให้ฝ่ายเรามีการสูญเสียจากการรบมากที่สุด
๒๕ ธ.ค.๓๐ ทภ.๓ ได้สั่งการให้ พล.ม.๑ จัดกำลังเพิ่มเติม และปรับแผนการปฏิบัติใหม่ โดยแบ่งเขตกากรปฏิบัติออกเป็น ๓ ส่วน เข้าปฏิบัติต่อที่หมายต่างๆ
๑๘ ม.ค.๓๑ ฝ่ายเราได้รับการกดดันจาก ป.ของ สปปล. ซึ่งมีอำนาจการยิงสูงขึ้นอย่างผิดปกติ รวมทั้ง ค.ชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก คาดว่าฝ่ายตรงข้ามได้สร้างเส้นทางเข้ามาบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเสร็จแล้วจึงสามารถเคลื่อนย้ายฐานยิงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก ฝ่ายไทยจึงได้มีการจัดปืนใหญ่เข้าปฏิบัติการคือ ป.พัน.๒๐, ป.พัน.๓๐, ป.พัน.๑๐๔, ป.๑๓๐ มม. จาก พล.ป., ป.๑๕๕ มม. จาก ป.พัน.๗๗๑ ปตอ.วันแคล ๘ หมู่ยิงจาก ทภ.๒ และจัดกำลังเพิ่มเติมจาก พล.ร.๔ (ร.๔,ร.๗) รับผิดชอบทางด้านภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ให้ ม.พัน.๗ รับผิดชอบต่อ ทม.๑, มท.๒ ส่วน ม.พัน.๑๘ ยึด มท.๗ ไว้แต่ถูกทำลายด้วย ป.ฝ่ายตรงข้ามประมาณ ๒,๐๐๐ นัด ทำให้กำลังพลเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก
๗ ก.พ.๓๑ ม.พัน.๗ ได้รับภารกิจเข้าตี ทม.๖ แต่ถูกกดดันจากฝ่ายตรงข้ามจึงไม่สามารถยึด ทม.๖ ได้สำเร็จ เป็นผลให้กำลังพลเสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้น ฉก.พล.ม.๑ จึงสั่งให้ ม.พัน.๗ ถอนกำลัง และให้ ม.พัน.๑๐ ปฏิบัติภารกิจแทน
๑๕ ก.พ.๓๑ ทภ.๓ ได้สั่งการให้ บก.ควบคุม พล.ร.๔ ปรับกำลังเป็น ฉก.พล.ร.๔ และนำกำลังไปผลัดเปลี่ยน ฉก.พล.ม.๑ และได้รับคำสั่งให้ยึด ทม.ต่างๆ ในพื้นที่ บ.ร่มเกล้า ใน ๑๖ ก.พ.๓๑ ขณะเดียวกัน สปปล.ได้ส่ง พล.อ.สีสะหวาด แก้วบุนพัน มาเจรจากับฝ่ายไทย หน่วยเหนือจึงสั่งการให้ชะลอการปฏิบัติไว้ก่อน ต่อมาได้มีประกาศหยุดยิง เมื่อ ๑๙ ก.พ.๓๑ ตามข้อตกลงของคณะกรรมการเจรจาทั้งสองฝ่าย และให้แยกกำลังรบทั้งสองฝ่ายออกจากแนวปะทะฝ่ายละ ๓ กม. จากการปฏิบัติครั้งนี้ทำให้ฝ่ายไทยได้ทราบว่าฝ่ายตรงข้ามมีทหาร สปปล., เวียดนาม, โซเวียต และคิวบา ให้การสนับสนุนการรบ หลังจากการสู้รบยุติแล้วทั้งสองฝ่ายมีการสูญเสีย ดังนี้ ๑) ฝ่ายไทย ๒) ฝ่ายตรงข้าม
ทหาร สปปล.เสียชีวิต ๒๘๖ นาย, บาดเจ็บ ๓๐๑ นาย
ทหารเวียดนาม เสียชีวิต ๑๕๗ นาย, บาดเจ็บ ๑๑๒ นาย
ทหารโซเวียต เสียชีวิต ๒ นาย, บาดเจ็บ ๒ นาย
ทหารคิวบา เสียชีวิต ๒ นาย
ราษฎร สปปล.เสียชีวิต ๒๒ คน, บาดเจ็บ ๘ คน
๖. วันสถาปนาหน่วย
“ ๒๐ สิงหาคม” เป็นวันที่กองทัพ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เคลื่อนย้ายเข้าเมืองแพร่และปราบปรามกบฏเงี้ยวได้สำเร็จ โดยกำลังส่วนหนึ่งจัดไปจากมณฑลพิษณุโลก